“เส้นชีวิต การ์ตูน ชัย ราชวัตร”

“เส้นชีวิต การ์ตูน ชัย ราชวัตร”


สุกรี แมนชัยนิมิต
Positioning Magazine กรกฎาคม 2549



จังหวะการเต้นของลายเส้นที่ร่างจากเส้นแรกไปจนถึงเส้นสุดท้าย ปรากฏเป็นใบหน้าของ
”ชัย ราชวัตร” ภายในไม่กี่นาทีที่เราเฝ้ามองจากปลายปากกาคอแร้งของ ”ชัย ราชวัตร เอง แทบไม่น่าเชื่อว่ารู้สึกได้จริงๆ ถึงเส้นสายที่มีชีวิต การ์ตูนนิสต์ชื่อดังระดับชาติ ไม่ได้มีฟอร์ม ไม่ได้วางท่าแบบศิลปินบางคน ที่ทำให้รู้สึกเข้าถึงได้ยาก ตรงกันข้าม “ชัย ราชวัตร” จับต้องได้ ด้วยน้ำเสียงที่เนิบช้า ใจเย็น ทำให้คนส่วนใหญ่ในไทยรัฐ และคนที่ได้มีโอกาสรู้จักเขาเป็นการส่วนตัว จะมีน้ำเสียงชื่นชม แต่ตรงกันข้าม อาจมีบางกลุ่มที่ไม่ชอบเขาเป็นการส่วนตัว


โดยเฉพาะพวกนักการเมือง หรือคนที่ถูกเหน็บ ประชดประชัน หรือเสียดสี แบบไม่เจ็บแต่แฝงอารมณ์ขัน อันเป็นเสน่ห์ของการ์ตูนหลายช่อง บนหน้า 5 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดย ”ชัย ราชวัตร” “มีหลายคนบอกผมว่า เวลาอ่านจะเอามือปิดช่องสุดท้ายไว้ แล้วก็จะเดา อ่านมา 2 ช่อง แล้วก็จะเดาต่อ คนอ่านก็จะเกิดความสนุกว่าเดาใจคนเขียนถูกมั้ย ถ้าวันไหนเดาถูก ก็จะมีความสุขมากประมาณนี้ เหมือนเล่นปริศนา”


ปริศนานี้แหละที่ ”ชัย ราชวัตร” การ์ตูนนิสต์ ฝีมือระดับชาติ บอกว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่ทำให้ ”ทุ่งหมาเมิน” และประชากรในหมู่บ้าน ทั้งผู้ใหญ่มา ไอ้จ๋อย และเถ้าแก่อ้วน ยังคงอยู่และเป็นที่รู้จักของคนไทย เสน่ห์อื่นๆ ที่ทำให้ ”ทุ่งหมาเมิน” ยังคงถูกแวะเวียนเยี่ยมเยียนนั้น
”ชัย ราชวัตร” บอกว่ามี 3 สูตร เด็ดๆ คือ


“1.เนื้อหาทันเหตุการณ์ เป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ถ้าเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว มาเขียน จะคมยังไงก็ไม่ฮา ไม่สนุก ถ้าเหตุการณ์เกิดวันนี้ปุ๊บเขียนล้อทันที จะทันเหตุการณ์มาก คือความสด
2.อารมณ์ขัน สำคัญมาก เป็นเสน่ห์ของตัวการ์ตูน แม้คนไม่ชอบการเมืองก็อยากอ่าน ถ้าคมมาก มีอารมณ์ขันมากๆ คนก็จะพูดต่อ เล่าต่อ
3.จุดยืนของคนเขียน ทัศนะต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องชอบธรรม ไม่แกว่งไปแกว่งมา เหมือนการวาง Positioning ตัวสินค้านั่นแหละ ถ้าจะขายคนกลุ่มนี้แล้ว ก็ต้องยืนหยัดอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ว่ามีคนติ เปลี่ยนสูตร ฟังคนวิจารณ์ เปลี่ยนอีก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ในที่สุดก็จับไม่ได้เลย ไม่รู้ตัวเองอยู่ตรงไหน คนอ่านก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนเขียนจะเอาแน่ยังไง “


แต่กว่าจะกลั่นออกมาได้เหลือประโยคพูดคุยของตัวละครไม่กี่ตัว และเพียง 3 ช่องหน้าต่างในพื้นที่ไม่กี่ตารางนิ้ว ไม่ใช่จู่ๆ แล้วนึกขึ้นมาได้ แต่เป็นเพราะ ”ชัย ราชวัตร” ทำการบ้านอย่างหนัก ไม่เพียงที่ต้องทุ่มเทในแต่ละวันเท่านั้น สิ่งสำคัญคือประสบการณ์ที่สั่งสมมานานเกือบ 30 ปี ตั้งแต่การเป็นการ์ตูนนิสต์มือสมัครเล่น จนมาถึงมืออาชีพ


“การหาข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ การที่เราเขียน แล้วพอเรากล้ายืนหยัดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ มันต้องไม่ยืนหยัดในลักษณะงมงาย หัวชนเสา แต่การยืนหยัดในที่นี้หมายความว่า ต้องมีข้อมูลแบ็กอัพในความคิด สามารถอธิบายได้ สามารถหาเหตุผลมาแจงได้ เพราะฉะนั้นต้องอ่านข้อมูลค่อนข้างเยอะ ทุกวันนี้ ผมอ่านหนังสือพิมพ์รายวันเกือบทุกฉบับ โรงพิมพ์จัดให้ทุกฉบับ อ่านหนังสือพิมพ์สัปดาห์วิจารณ์ อ่านหนังสือบันเทิง อ่านหมด อ่าน 2-3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ส่วนที่บริโภคเวลามากที่สุดคือการอ่าน แล้วนั่งคิดประเด็นจับประเด็นเรื่องที่จะเขียน แล้วมาหามุกอีก ส่วนการเขียนจริงๆ การทำงานจริงๆ 10-20 นาที ก็เสร็จแล้ว
เพราะตัวการ์ตูนแต่ละตัวเรียกว่าหลับตาเขียนได้แล้ว“ แต่ใช่ว่าชีวิตประจำวันจะเคร่งเครียด เพราะความจริงแล้วการอ่านหนังสือพิมพ์ของ ”ชัย ราชวัตร” นั้นเขาบอกว่าเป็นการพักผ่อน เพราะไม่ได้เขียนการ์ตูน ก็ต้องอ่านหนังสือพิมพ์เหมือนกัน และแต่ละวันก็มีเวลาเยอะจนเขาบอกว่า ”ฆ่าเวลา” ด้วยการทำสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ตื่นไม่เช้านักประมาณช่วง 10 โมง เพราะไม่ได้รีบอะไร


ยังมีเวลาสำหรับการฟังวิทยุ การเช็กอีเมลจากเพื่อนพ้อง การเลือกว่าจะไปฟิตเนส หรือตีกอล์ฟ แล้วจึงเข้าโรงพิมพ์ที่ไทยรัฐ มีเวลาพูดคุยกับเพื่อนๆ น้องๆ ในกองบรรณาธิการ อาจล่วงเลยถึงเที่ยงคืนสำหรับการส่งต้นฉบับ กลางคืน นั่งกดดูช่องรายการจากยูบีซีไปเรื่อยๆ ง่วงแล้วจึงเข้านอน แต่สิ่งหนึ่งที่อาจทำให้เขาเคร่งเครียด คือการต้องใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว และผูกเนกไท เพราะตอนอยู่แบงก์คือสิ่งที่บังคับให้เขาต้องทำประจำ ทุกอย่างทำโดยมีเวลากำหนด ดังนั้นทุกวันนี้จึงน้อยครั้งนักที่คนรอบข้างจะเห็นเขาใส่เชิ้ตสีขาว


ย้อนหลังไปในวัยเด็กของ ”เด็กชายสมชัย กตัญญุตานันท์” ชื่อสกุลจริงของ ”ชัย ราชวัตร” ด้วยสิ่งแวดล้อมของบ้านเกิด ที่ทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี ทั้งที่ครอบครัวและเพื่อนรุ่นพ่อที่อยู่ข้างบ้าน นิยมนั่งคุยเรื่องของการเมือง ในยุคที่เปิดเสรีเต็มที่ในการวิจารณ์การเมือง ไฮปาร์ค วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้นำตามสวนสาธารณะได้เต็มที่ในสมัยของจอมพลป.พิบูลสงคราม “เด็กชายสมชัย” ในวัยที่เรียนอยู่ในช่วงมัธยมต้นเท่านั้น ไม่เพียงแค่ฟัง แต่ยังแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกับเพื่อนรุ่นพ่อ เพราะมีโอกาสได้อ่านหนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ที่วิเคราะห์การเมืองแบบเจาะลึก และแม้จะเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ จบวิชาการบัญชี และไปทำงานธนาคารอยู่ถึง 9 ปี


ทิ้งความน่าเบื่อหน่ายของสังคมไทยไปค้นหาชีวิตที่สหรัฐอเมริกา 2 ปี ก็ไม่เคยเลิกติดตามข่าวสารการเมือง นอกเหนือจากสนใจการเมืองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ ”เด็กชายสมชัย” ไม่เคยทิ้ง คือการวาดรูป เมื่อความชอบเนื้อหาทางการเมือง กับความชอบด้านการวาดการ์ตูนลงตัว ทำให้ ”เด็กชายสมชัย” เริ่มพัฒนาขั้นการฝึกปรือฝีมือ


จากวาดลายกนกในชั้นเรียนตามคำสั่งอาจารย์ ก็มีการวาดการ์ตูนที่เป็นฮีโร่ อย่างซูเปอร์แมน มนุษย์ค้างคาว ซึ่งเพื่อนร่วมรุ่นก็ชื่นชมในฝีมือ ขั้นสูงสุดเห็นจะเป็นการฉีกหน้าการ์ตูนล้อการเมือง ของ ”ประยูร จรรยาวงศ์” ปรมาจารย์การ์ตูนนิสต์จากนิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ของห้องสมุดประชาชน ประจำจังหวัด “แอบฉีกมา เพราะมีความรู้สึกว่าเก็บไว้ในนั้น คนอื่นคงไม่ได้ประโยชน์ ก็มาหัดก๊อบไปเรื่อยๆ ด้วยความชอบในเส้นสายของการ์ตูน คุณประยูร นอกจากเขียนแนวการเมืองในหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว ยังเขียนพวกวรรณคดีมาเป็นการ์ตูน


ในการ์ตูนมักจะสอดแทรก เหน็บแนมการเมือง ล้อเลียนสังคมไปด้วย มีความรู้สึกชอบแบบนั้นมาตั้งแต่เด็ก ชอบเรื่องอะไรที่แบบเหน็บแนมสังคม เสียดสีสังคม ตอนนั้นฉีกทุกวัน ฉีกแล้วแอบพับใส่กระเป๋า แล้วเดินออกมาเป็นประจำ ปิดเป็นเล่มเลย” อีกปัจจัยสนับสนุนหลักที่ทำให้ ”ชัย ราชวัตร” มีมุกเสียดสี ที่ฮาได้ที่ เพราะอ่านการ์ตูนของต่างประเทศประจำ โดยเฉพาะนิตยสาร MAD ที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษ เส้นทางการเป็นการ์ตูนนิสต์ล้อการเมืองชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเสรีภาพของสื่อมวลชนเปิดกว้างมากขึ้นในยุคหลัง 14 ตุลาฯ จากที่เคยทำงานแบงก์ และเขียนการ์ตูนให้หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ด้วย ไปอยู่สหรัฐอเมริกา 2 ปี และ ”เปลว สีเงิน” คอลัมนิสต์ชื่อดัง ตามกลับมาเขียนการ์ตูนที่เดลินิวส์อีกครั้ง พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของหมู่บ้าน ”ทุ่มหมาเมิน” ก่อนที่จะลงหลักปักฐานที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


“ตอนกลับมา เป็นยุครัฐบาลทหาร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็เขียนอะไรไม่ได้เต็มที่นัก ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยเพียงเสี้ยวเดียว เขียนอะไรก็ต้องระวัง ก็เลยคิดสร้างตัวการ์ตูนที่เป็นสัญลักษณ์ ไม่เขียนถึงรัฐบาลตรงๆ ผู้ใหญ่มา ได้แนวความคิดมาจากบทความของอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์


ในยุคก่อน 14 ตุลาฯก่อนเผด็จการทหาร จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี อาจารย์ป๋วย เขียนในลักษณะเหน็บแนมรัฐบาลโดยไม่เขียนถึงตรงๆ แต่เขียนเป็นลักษณะจดหมายลูกบ้านเขียนถึงหัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านชื่อ ”ทำนุ เกียรติก้อง” แผลงมาจาก “ถนอม กิตติขจร” ล้อความหมายชื่อ จากลูกบ้านชื่อ ”นายเข้ม เย็นยิ่ง” ซึ่งเป็นชื่อจัดตั้งของอาจารย์ป๋วย สมัยเป็นเสรีไทย เป็นลักษณะวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการ ไม่ดูแลหมู่บ้าน ก็เลยได้ความคิดตรงนั้นว่าจำลองประเทศไทยลงมาเป็นหมู่บ้านหมู่บ้านหนึ่ง ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า ”ทุ่งหมาเมิน” เพราะตอนนั้นพลเอกเกรียงศักดิ์ร่างรัฐธรรมนูญ มีนักการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับหมาเมิน ให้อำนาจทหาร สภาพปัญหาตอนนั้น


ไม่ว่าปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อยู่ในลักษณะที่ว่าแย่มากๆ ก็เลยตั้งชื่อหมู่บ้านในลักษณะเสียดสี หมายังไม่อยากแล” แต่สภาพแวดล้อมของ ”ทุ่งหมาเมิน” อาจกำลังต้องถูกปรับเปลี่ยนต่อเติม ทั้งคำศัพท์ และฉาก เพื่อให้ร่วมสมัยมากขึ้น เพราะ ”ชัย ราชวัตร” รู้ทันคนอ่านหนังสือพิมพ์ และชื่นชอบที่จะลับมุกกับการ์ตูนของเขา นอกจากที่เขาต้องระมัดระวังว่ากลุ่มคนอ่านของไทยรัฐมีตั้งแต่ระดับชาวบ้าน คนขับ 3 ล้อ ไปจนถึงรัฐมนตรี ที่คำทุกคำที่ใช้ ตัวการ์ตูนพูดออกไปแล้วทุกคนต้องเข้าใจ ยังคงเป็นสิ่งท้าทายสำหรับ ”ชัย ราชวัตร” ที่ยังไม่มีกำหนดหาบทจบสำหรับ ”ทุ่งหมาเมิน” ตรงกันข้าม ปลายปากกาคอแร้งที่จุ่มน้ำหมึกลงลายเส้นยังคงต่อเนื่องไปอีกนาน


Profile : Name : สมชัย กตัญญุตานันท์
(นามปากกา : ชัย ราชวัตร)


Born : 19 มิถุนายน 2484

Education :
- มัธยมต้น โรงเรียนเทพอำนวย
(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสิทธิธรรม)
- ระดับปวช. กรุงเทพการบัญชีวิทยาลัย

Career Hightlights :
พนักงานธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประจำสำนักงานใหญ่ 9 ปี
พร้อมๆ กับการเขียนการ์ตูนให้หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ประมาณ 3 ปี
จากนั้นบินไปใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกานาน 2 ปี กลับมาที่เดลินิวส์อีกครั้ง
โดยการชักชวนของ ”เปลว สีเงิน” ประมาณ 2-3 เดือน
ย้ายไปอยู่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จนกระทั่งปัจจุบัน


Honor :
“ชัย ราชวัตร” ได้รับรางวัลแห่งชีวิต ที่ยังความปลาบปลื้มแก่ตัวเขาอย่างยิ่ง
คือการรับใช้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
วาดภาพชุดพระมหาชนก 2 ชุด และเรื่องคุณทองแดง 1 ชุด