อย่าฆ่าความฝันของตัวเอง

อย่าฆ่าความฝันของตัวเอง

โครงการที่ไม่น่าสนใจ
คอลัมน์ คุยกับประภาส หนังสือพิมพ์มติชน

โดย ประภาส ชลศรานนท์

www.Prapas.com

ถึงพี่ประภาส
น้องชายดิฉันจบด้านสื่อสารมวลชน ตอนเรียนเขาก็ดูไฟแรงดี พอจบมาแล้วกลายเป็นคนขี้เกียจไปได้ยังไงไม่รู้ พยายามบอกให้เขาลุกขึ้นทำอะไรบ้าง แม่ก็อยากให้ไปทำงานบริษัท เขาก็บอกว่าไม่อยากเป็นลูกน้องใคร บอกให้ลองลงทุนทำอะไรเอง หรือไม่ก็คิดเรื่องใหม่ๆ หรือแต่งเพลงออกมาสักม้วน อย่างที่เคยทำสมัยเรียน เขาก็เอาแต่กวนประสาทบอกว่า สมัยนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อน คิดอะไรไปก็มีคนทำหมดแล้ว เพลงรัก เพลงเพื่อชีวิต ก็ถูกแต่งหมดแล้ว ไม่รู้จะแต่งอะไรอีก จะให้ค้าขายอะไรเขาก็บอกว่า อันนี้ก็ทำไม่ได้ อันนั้นก็ไม่น่าทำ ฟังแล้วท้อค่ะ บางทีดิฉันมีโปรเจ็คต์ดี ๆ ไปชวนเขาทำ เขาก็เบรกเราเสียเราเองก็ไม่กล้าทำตามเขาไปเลย
พี่ประภาส พอจะมีอะไรแนะนำให้ต่อกรกับคนแบบนี้บ้าง
นุช
----------------------------------------------------------

เคยได้ยินประโยคทำนองนี้กันบ้างไหมครับ บทสนทนาในละครฉากเล็กๆ ของชีวิตจริง
ลูกชาย- "พ่อ เห็นตึกสี่ชั้นที่อยู่หน้าหมู่บ้านนั่นไหม เขาติดประกาศขายแล้ว ไม่ไกลจากบ้านเราด้วย หน้ามันกว้างดี จอดรถน่าจะได้สองคันสบายๆเลยนะพ่อ"
พ่อ - "ไหนนาง หลังไหน ร้านหนังสือเก่านั่นน่ะเหรอ ละเมอไปหรือเปล่า อย่างเราจะมีปัญญาไปซื้อ อย่างไรไหว"
ลูกชาย - "ลองโทร.ไปถามหน่อยไม่ดีหรือ เผื่อเอาเข้าแบงก์แล้วขยับขยายร้านได้ใหญ่ขึ้น"
พ่อ - "เสียเวลา เสียค่าโทรศัพท์เปล่าๆ ก้มหน้าก้มตาทำงานไปเถอะ"

----------------------------------------------------------

สามี - "ไปเที่ยวยุโรปกันไหม กลางๆ ปีเขาว่าไม่หนาวมาก อยากไปเห็นเมืองนอกบ้าง"
ภรรยา - "ไปต่างประเทศ คุณจะมีเวลาหรือ แล้วเรื่องเงินอีก ไหนจะค่าตั๋ว ค่าที่พัก แล้วยังต้องซื้อของฝากคนอื่นอีกล่ะ โอย ยุ่งยากเปล่าๆ อย่าคิดอะไรเกินตัวนักสิ"

----------------------------------------------------------
น้อง - "พินัยกรรมสรุปออกมาแล้ว คุณป้าท่านยกเงินให้เราแสนหนึ่งแน่ะ"
พี่ - "แสนหนึ่ง ค่าทนาย ค่าธรรมเนียม แล้วก็ต้องผ่อนรถที่เหลืออีกสามสี่เดือน จะไปเหลือสักเท่าไร ไม่เห็นน่าดีใจเลย"

----------------------------------------------------------

อาจารย์ที่ปรึกษา - "อีกอาทิตย์เดียวก็สอบใหญ่แล้วนะ เธอนอนอยู่โรงพยาบาลนานขนาดนั้น ขาดเรียนสิบกว่าครั้งอย่างนี้ อ่านทวนเยอะๆหน่อยก็ดี ข้อสอบปีนี้ไม่ง่ายนะ"
นักศึกษา -"อ่านอย่างไรอ่านก็ไม่ทันแล้วครับ หนังสือตั้งเกือบสิบเล่ม อาทิตย์เดียวจะไปอ่านทันได้อย่างไร ช่างมันเถอะครับอาจารย์ มันจะตกก็ให้มันตกไป อ่านไปก็ไม่มีประโยชน์แล้ว"
----------------------------------------------------------
บางทีผมก็แอบเรียกคนมองโลกในแง่ร้ายอย่างนี้ว่า "นักฆ่าความฝัน"
ในสังคมรอบๆ ตัวท่านผู้อ่านก็คงมีให้เห็นบ้างละครับ ทั้งแบบนักฆ่าสมัครเล่นที่มองอะไรก็เห็นว่าเป็นไปไม่ได้หมด
กับพวกนักฆ่ามืออาชีพ พวกนี้ต่างจากพวกสมัครเล่นก็คือไม่เพียงแต่มองไม่เห็นความเป็นไปได้แค่นั้น พวกนี้ยังออกโรงออกแรงค้านอย่างจริงจัง จนทุกโครงการที่นักฝันคนไหนก็ตามเสนอขึ้นมา เป็นหมันตั้งแต่ออกจากปากแล้ว
คุณนุชเขียนมาขอวิธีต่อกรกับพวกฆาตกรความฝัน ยอมรับครับว่าทุกวันนี้ผมก็ยังผจญภัยกับคนเหล่านี้อยู่ วิธีคิดของผมก็คือ อย่ามองเขาเป็นศัตรู มองเขาเป็นเพื่อนมองเขาเป็นฝ่ายค้านที่มาช่วยติงช่วยติ แต่อย่ายอมให้เขาฆ่าความฝันเราได้นะครับ
ที่สำคัญที่สุดหากเราทำให้ฝันที่เขาคิดว่าเป็นจริงไม่ได้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างให้เขาเห็นได้บ่อยๆ ต่อไปเขาก็จะไม่กล้าฆ่าความฝันใคร แม้แต่ของตัวเอง
มีกรณีศึกษาจากนักจิตวิทยาที่ผมเคยอ่านเจอ นักฆ่าความฝันพวกนี้มักมีปมในวัยเด็กกับประสบการณ์แย่ ๆ เช่น พ่อกับแม่ชอบสัญยิงสัญญาอะไรกับเขาแล้วไม่เคยทำได้สักครั้ง คงเคยเห็นใช่ไหมครับพ่อแม่ที่รับปากลูกไปวันๆ ฝันอันงดงามในความรู้สึกของเด็กจึงกลายเป็นฝันลมๆ แล้งๆ แทบทุกครั้ง หนักเข้าก็เริ่มไม่วางใจใคร สุดท้ายการมองโลกในแง่ร้ายก็เลยฝังลึกลงก้นบึ้งจิตใจ
ไม่มีอะไรแนะนำมากกว่านี้ครับ นอกจากขออนุญาตเล่าถึงโครงการแปลกๆ ในอดีตให้ฟังกัน ฝากเอาไปเล่าให้น้องชายคุณนุชฟังอีกต่อด้วยนะครับ
โครงการพวกนี้ล้วนเคยเป็นโครงการที่ไม่น่าสนใจแทบทั้งสิ้นครับ
อากิโอะ โมริตะประธานฯบริษัทโซนี่ มองเห็นอีฟูกะ ผู้ร่วมก่อตั้งโซนี่อีกคนหนึ่งชอบหิ้วเครื่องเล่นเทปพร้อมกับหูฟังติดอยู่ที่หูเดินไปไหนมาไหนอยู่เรื่อย จึงออกปากถามถึงเหตุผล อีฟูกะบอกว่าเขาชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ เดินไปนั่งตรงไหนก็อยากเอาเพลงไปฟังด้วย แต่ไม่อยากเปิดเบาๆ และก็ไม่อยากให้หนวกหูคนอื่นจึงจำต้องใช้หูฟัง
อากิโอะ ได้ยินเข้าก็เกิดความคิดสว่างวาบขึ้นที่จะทำสินค้าออกขาย โดยคิดย่อเครื่องเล่นเทปให้เล็กลงพร้อมหูฟังที่เล็กลงด้วย
ใช่ครับ จุดกำเนิดซาวนด์นอะเบาต์ มันเกิดง่ายๆ อย่างนี้แหละครับ
แต่ฝ่ายการตลาดไม่เห็นด้วยกับสินค้าตัวนี้ คำวิจารณ์แรงๆก็คือ "จะมีใครที่ไหนโง่มาซื้อเครื่องเล่นเทปที่ไม่มีส่วนของการบันทึกเสียง"
อากิโอะไม่คิดอย่างนั้น เขาไม่ยอมให้ใครฆ่าความฝันของเขา เขาเชื่อว่าซาวนด์อะเบาต์นั้น มีไว้เพื่อฟังไม่ใช่เพื่ออัด การจะใส่ส่วนของการบันทึกเสียงลงไปด้วยจะทำให้เครื่องใหญ่ขึ้น และเพื่อไม่ทะเลาะกับฝ่ายการตลาด เขาขอเป้าการขายแค่เพียงปีละหนึ่งแสนเครื่องเท่านั้น และไม่ต้องทุ่มโฆษณาให้สินค้าตัวนี้มากนักด้วย
ปีแรกที่วางตลาด ซาวนด์อะเบาต์ ทำยอดจำหน่ายให้โซนี่เท่าไรรู้ไหมครับ
สี่ล้านเครื่อง !
เรื่องราวของอากิโอะนั้นคล้าย ๆ กับ บิล เลียร์ แต่ตอนจบกลับไม่เหมือนกัน
บิล เลียร์ คิดเรื่องวิทยุติดรถยนต์ขึ้นมาครั้งแรก คนรอบๆ ข้างเขา ต่างรุมถล่มความฝันอันบรรเจิดของเขาอย่างหูดับตับไหม้ ความเห็นที่มองไปทางเดียวกันก็คือ "มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้คนจะติดวิทยุไว้ในรถ เพราะมันจะทำให้คนขับเสียสมาธิได้" ไม่รู้ว่าเลียร์ไม่หนักแน่นพอ หรือนักฆ่าพวกนั้นออกอาวุธหนักเสียจนเลียร์ตั้งตัวไม่ติด เขายอมขายความคิดนี้ให้กับ บริษัทกัลวิน แมนูแฟคเตอร์ ไป
หลังจากร่ำรวยจากวิทยุติดรถยนต์ บริษัทกัลวินนี้ ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น โมโตโรลา บริษัทที่เป็นยักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่ง ในวงการโทรศัพท์มือถือตอนนี้
พูดถึงโทรศัพท์มือถือ นี่ถ้า เกรแฮมเบลล์ ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์รู้ว่า ทุกวันนี้มีคนบนโลกใช้โทรศัพท์อยู่ตลอดเวลาไม่เว้นแต่วินาทีเดียว เขาคงดีใจที่สุด เพราะตอนที่เบลล์ เพิ่งทดลองโทรศัพท์ข้ามแม่น้ำสำเร็จใหม่ๆ เมื่อร้อยสามสิบปีก่อน นายกเทศมนตรีให้สัมภาษณ์นักข่าวดูแคลนสิ่งประดิษฐ์ของเบลล์ว่า "ของเล่นอันนี้มันก็ดีอยู่หรอก แต่มันจะใช้ทำอะไรได้"
ปี พ.ศ.2505 บริษัทแผ่นเสียงยักษ์ใหญ่ เดคค้า เรคคอร์ด ปฏิเสธงานของวงดนตรีหน้าใหม่ที่ชื่อเดอะบีตเทิลส์ด้วยเหตุผลว่า "เพลงที่เล่นด้วยกีตาร์กำลังจะหมดสมัยแล้ว"
ใกล้ๆ ตัวนี่เลยครับ จา พนม ที่กำลังเนื้อหอมในต่างประเทศ จากหนังเรื่ององค์บาก ก็เคยถูกคำวิจารณ์จากบริษัทเก่าที่จา เคยเซ็นสัญญาด้วยว่า "เขาไม่มีเสน่ห์พอ ถ้าจะทำหนังให้เขาเล่น เขาต้องประกบกับพระเอกที่หล่อกว่าเขา" ไม่รู้ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับฯ องค์บาก ประชดประชันหรือคิดอะไรอยู่ หลังจากมาเซ็นสัญญากับบริษัทใหม่ เขาให้จาเล่นหนังเรื่องแรก โดยประกบกับหม่ำ จ๊กมกเสียเลย
มองคำทักท้วงเหล่านี้เป็นมิตรสิครับ แล้วเอาชนะมันให้เขาเห็น
เมื่อ 60 ปีก่อน โทมัส วัตสัน ประธานไอบีเอ็ม ยังเคยพูดถึงคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเลยว่า "ตลาดของพีซีทั้งโลก น่าจะมีประมาณห้าเครื่องได้มั้ง" ดีนะครับ ที่สุดท้ายแล้ว ผู้บริหารรุ่นหลังของไอบีเอ็มไม่ได้เชื่อคำพูดของวัตสัน
ประโยคสกัดดาวรุ่งประโยคสุดท้ายครับ เป็นของนักฝันชื่อดัง บิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์
ฟังประโยคนี้แล้วอย่าหัวเราะดังนะครับ บิล เกตส์ พูดไว้เมื่อปี พ.ศ.2511 คนเรานี่บางทีก็เผลอเป็นนักฆ่าความฝันของตัวเองไปเหมือนกัน เขาพยากรณ์ถึงหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในอนาคตว่า
"640k ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับทุกๆ คน
Newer Post Older Post Home